วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เป็นตัวของตัวเอง...​แปลว่าอะไร?


เป็นตัวของตัวเอง คือ เป็นยังไงกันแน่?


เชื่อว่าเราคงได้ยินประโยคนี้กันบ่อย ๆ และมันก็ฟังดูดีทีเดียวใช่ไหมคะ แต่ในความที่ดูมีพลัง ความหมายของมันก็กว้าง บางครั้งก็ทำให้เราไม่ได้ลงลึกความหมายของมันจริง ๆ


หรือพูดให้ถูกคือ ความหมายที่เป็นจริงในบริบทของเรา

นั่นคือการตอบคำถามตัวเองว่า 


“ตัวของเราเองเป็นอย่างไร?”


จริงอยู่ว่า ขึ้นอยู่กับว่าเราพูดถึงเรื่องอะไร เช่น ในการทำโปรเจ็กต์นี้ เราอาจได้รับมอบหมายให้คิดงานใต้คอนเซปต์นึง เราทำตามบรีฟเป๊ะ ๆ ไม่มีตกหล่น จนไม่มีความเป็นตัวเรา


เปรียบให้เข้าใจง่ายก็คงเป็นงานอาร์ต งานศิลป์ ที่ต้องใช้พลังความคิดสร้างสรรค์  (Creativity) ให้ลองนึกถึงงานศิลป์อะไรก็ได้ที่คุณชอบเสพ เช่น นิยาย ภาพยนตร์ การ์ตูน ภาพศิลปะ ภาพวาด งานแฮนด์คราฟต์ ประติมากรรม ฯลฯ คุณจะบอกได้ว่างานชิ้นนั้นเป็นของใครถ้าคุณรู้จักเค้ามากพอ และเค้าผลิตงานออกมาจำนวนหนึ่ง สร้างภาพจดจำว่างานของคนนี้ จะเป็นแบบนี้


มองมุมหนึ่งก็คือ Branding

แต่ Branding นั้นสร้างเอาได้ อาจไม่ใช่ตัวตนแท้จริงเราก็ได้ แค่แสดงออก หรือทำให้เห็นบ่อย ๆ


เนื้อแท้ของเรา


ในที่นี้เราพูดถึง “ความเป็นตัวเรา” หรือ Authenticity คือเนื้อแท้ตัวตนของเรา ที่ปรากฏในทุก ๆ มิติในชีวิตเรา เมื่อเป็นตัวเอง เราจะรู้สึก Flow ทุกอย่างโล่ง ลื่นไหล มีความสุข


เมื่อไหร่ที่ไม่เป็นตัวเอง ข้างในจะอึดอัดก่อน ตามด้วยความรู้สึกเหนื่อยใจ ไร้พลัง หมดไฟ จนถึงขั้น drained out ที่แปลง่าย ๆ คือตายด้าน (เพราะถูกสูบพลังไปหมด)


ลองนึกว่ามีช่วงไหนในชีวิตบ้างที่เรารู้สึกแบบนี้ ไม่ว่ากับชีวิตการเรียน การงาน ความรัก ความสัมพันธ์


ทีนี้เรากลับมาที่ “ความเป็นตัวเอง” ที่เราพูดกันแต่แรกก่อน


เราต้องตอบตัวเอง - นิยามตัวเองให้ได้ว่าความเป็นตัวเราคืออะไร


เราเป็นคนแบบไหน? บุคลิกเป็นอย่างไร? ลักษณะทางสังคมเป็นยังไง?


Introvert - Extrovert?


ชอบทำงานแบบไหน?

ชอบกินอะไร?

งานอดิเรกคืออะไร?

มีความฝันแบบไหน?

ไลฟ์สไตล์เป็นยังไง?

ชอบคนแบบไหน?


ยกตัวอย่างตัวเองแล้วกัน

ฉันเป็น Introvert ไม่ชอบไปงานปาร์ตี้สังสรรค์ โดยเฉพาะอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าเยอะ ๆ นาน ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าขี้อาย เพราะฉันก็ทำสื่อ ทำคอนเทนต์ที่นำเสนอตัวเองอยู่หลายช่องทาง


ฉันชอบท่องเที่ยว เดินทาง ชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ดูหนัง ดูละคร

ชอบอยู่กับคนจำนวนน้อย


ฉันเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์ในเรื่องงาน แต่เรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยอื่น ๆ ในบ้าน ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ซุ่มซ่ามก็ที่หนึ่ง

ชอบคิด สร้างสรรค์ แต่ไม่ถนัดคำนวณ วางแผน คิดกลยุทธ์


ในความสัมพันธ์ ชอบคนบุคลิกดี สะอาดสะอ้าน จิตใจดี ซื่อสัตย์ ไม่เจ้าชู้ ไม่มีอีโก้จัด ให้เกียรติผู้หญิง ไม่หยาบคาย (ไม่ต้องถึงกับสุภาพสุด ๆ ก็ได้) หาเลี้ยงตนเองได้


แล้วการรู้ตัวเองอย่างนี้ดียังไง?


เมื่อเรารู้ว่าอะไรเป็นตัวเอง เราก็จะรู้ว่าอะไร “ไม่เป็นตัวเอง” ไงคะ


ยกตัวอย่างเรื่องลักษณะนิสัยจะเห็นภาพง่ายดีค่ะ


ถ้าเราชอบเจอผู้เจอคน เป็น Extrovert แต่แฟนเป็น Introvert สุด ๆ ชอบอยู่บ้าน เอนจอยความเงียบ ชิลๆ สงบ ๆ หากเข้าใจกัน ปรับกันได้ ไม่ค่อยมีปัญหา

แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดล้ำเส้นเข้ามากะเกณฑ์ ปัญหาจะเริ่มเกิด


ศุกร์เย็น Extrovert อยากออกไปลั้ลลา แฮงก์เอาท์กับเพื่อนหลังจากเหนื่อยงานมาทั้งสัปดาห์ แต่ยอมไม่ไป เพราะแฟนไม่ชอบ มองว่าอยู่ไม่ติดบ้าน ควรใช้เวลาอยู่ด้วยกัน มี quality time ที่บ้านดีกว่าไหม ทำไมจะต้องไปเจอคนเยอะ ๆ อยู่กันเงียบ ๆ ชิล ๆ ไม่อยากนอนดูเนทฟลิกซ์ด้วยกันเหรอ


Introvert คนนี้มองว่า “สังสรรค์นอกบ้าน” = สิ้นเปลือง, เสียเวลา, (ไปเที่ยว) เหลวไหล

และถ้าคนนี้มีอิทธิพลสูงกว่าในความสัมพันธ์ ฝ่าย extrovert ก็ยอม... ทั้งที่เหี่ยวเฉา


ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของ Extrovert คือชอบเจอคน จะรู้สึกสดชื่นเหมือนได้รีชาร์จพลังถ้าได้ไปเจอผู้เจอคน เจ๊าะแจ๊ะ สนุกสนาน


ขณะที่ธรรมชาติของ Introvert คือชอบความสงบ และจะเหนื่อยมากถ้าต้องไปอยู่กับคนเยอะ ๆ การรีชาร์จพลังของเขาคือการพักผ่อน รีแลกซ์ ทำอะไรที่ชอบเงียบ ๆ ชิลๆ คนเดียว หรือกับคนที่คุ้นเคย สนิทสนม


กลับกัน ถ้าในความสัมพันธ์นี้คน Extrovert กุมอำนาจ ก็อาจบังคับให้คู่ที่เป็น Introvert ไปปาร์ตี้ด้วย ฝ่าย Introvert ก็นั่งเฉาอยู่กลางดงผู้คน ฝืนยิ้มอยู่ได้เกินชั่วโมงก็เก่งแล้ว


เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ฝ่ายที่ฝืนใจทำสิ่งที่ตรงข้ามกับธรรมชาติของตัวเองก็จะ drained out คือถูกสูบพลังชีวิตไปเรื่อย ๆ จนซังกะตาย หรือตายด้าน


ทั้งนี้ทั้งนั้น คู่ที่มีลักษณะ Extrovert - Introvert ที่อยู่กันได้ดีก็มีถมไปนะคะ เพราะเข้าใจธรรมชาติของกันและกัน และปล่อยให้แต่ละฝ่าย “เป็นตัวของตัวเอง” โดยอาจตกลงขอบเขตบางอย่างร่วมกัน ที่เรียกว่า “การปรับตัว”


เมื่อเรารู้ว่า เราเป็นแบบไหน และ เราไม่เป็นแบบไหน เราจะเข้าใจตัวเอง และคนอื่นมากขึ้น

เคารพตัวเอง และเคารพผู้อื่่นมากขึ้น


ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เพื่ออยากชวนให้ทุกคนคิดว่า “การเป็นตัวของตัวเอง” ของเรามีความหมายที่กว้างมาก ไม่ใช่แค่เรื่องบุคลิกอย่างที่ยกตัวอย่างอย่างเดียว รวมถึงอาหารที่ชอบ นิสัย ความเชื่อ ทัศนคติ พฤติกรรม


ถ้าเราเข้าใจตัวเองจริง ๆ เวลามีปัญหาเกิดขึ้น เราจะตั้งสติได้เร็วมาก จะไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่ใช่ สิ่งที่ทำให้เราสูญเสียความนับถือในตัวเอง สิ่งที่ทำให้เราหมดพลังใจในชีวิต


เราอาจจะลองนิยามความเป็นตัวเองออกมาหลาย ๆ มิติ แล้วจับกลุ่มแบ่งออกมา เหลือแค่ 3 คำ ลองดูว่า “ความเป็นตัวคุณ” จะออกมาเป็นคำไหนบ้าง


ด้วยรักจากใจ

ผู้หญิงเชิงรุก


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น