วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เป็นตัวของตัวเอง...​แปลว่าอะไร?


เป็นตัวของตัวเอง คือ เป็นยังไงกันแน่?


เชื่อว่าเราคงได้ยินประโยคนี้กันบ่อย ๆ และมันก็ฟังดูดีทีเดียวใช่ไหมคะ แต่ในความที่ดูมีพลัง ความหมายของมันก็กว้าง บางครั้งก็ทำให้เราไม่ได้ลงลึกความหมายของมันจริง ๆ


หรือพูดให้ถูกคือ ความหมายที่เป็นจริงในบริบทของเรา

นั่นคือการตอบคำถามตัวเองว่า 


“ตัวของเราเองเป็นอย่างไร?”


จริงอยู่ว่า ขึ้นอยู่กับว่าเราพูดถึงเรื่องอะไร เช่น ในการทำโปรเจ็กต์นี้ เราอาจได้รับมอบหมายให้คิดงานใต้คอนเซปต์นึง เราทำตามบรีฟเป๊ะ ๆ ไม่มีตกหล่น จนไม่มีความเป็นตัวเรา


เปรียบให้เข้าใจง่ายก็คงเป็นงานอาร์ต งานศิลป์ ที่ต้องใช้พลังความคิดสร้างสรรค์  (Creativity) ให้ลองนึกถึงงานศิลป์อะไรก็ได้ที่คุณชอบเสพ เช่น นิยาย ภาพยนตร์ การ์ตูน ภาพศิลปะ ภาพวาด งานแฮนด์คราฟต์ ประติมากรรม ฯลฯ คุณจะบอกได้ว่างานชิ้นนั้นเป็นของใครถ้าคุณรู้จักเค้ามากพอ และเค้าผลิตงานออกมาจำนวนหนึ่ง สร้างภาพจดจำว่างานของคนนี้ จะเป็นแบบนี้


มองมุมหนึ่งก็คือ Branding

แต่ Branding นั้นสร้างเอาได้ อาจไม่ใช่ตัวตนแท้จริงเราก็ได้ แค่แสดงออก หรือทำให้เห็นบ่อย ๆ


เนื้อแท้ของเรา


ในที่นี้เราพูดถึง “ความเป็นตัวเรา” หรือ Authenticity คือเนื้อแท้ตัวตนของเรา ที่ปรากฏในทุก ๆ มิติในชีวิตเรา เมื่อเป็นตัวเอง เราจะรู้สึก Flow ทุกอย่างโล่ง ลื่นไหล มีความสุข


เมื่อไหร่ที่ไม่เป็นตัวเอง ข้างในจะอึดอัดก่อน ตามด้วยความรู้สึกเหนื่อยใจ ไร้พลัง หมดไฟ จนถึงขั้น drained out ที่แปลง่าย ๆ คือตายด้าน (เพราะถูกสูบพลังไปหมด)


ลองนึกว่ามีช่วงไหนในชีวิตบ้างที่เรารู้สึกแบบนี้ ไม่ว่ากับชีวิตการเรียน การงาน ความรัก ความสัมพันธ์


ทีนี้เรากลับมาที่ “ความเป็นตัวเอง” ที่เราพูดกันแต่แรกก่อน


เราต้องตอบตัวเอง - นิยามตัวเองให้ได้ว่าความเป็นตัวเราคืออะไร


เราเป็นคนแบบไหน? บุคลิกเป็นอย่างไร? ลักษณะทางสังคมเป็นยังไง?


Introvert - Extrovert?


ชอบทำงานแบบไหน?

ชอบกินอะไร?

งานอดิเรกคืออะไร?

มีความฝันแบบไหน?

ไลฟ์สไตล์เป็นยังไง?

ชอบคนแบบไหน?


ยกตัวอย่างตัวเองแล้วกัน

ฉันเป็น Introvert ไม่ชอบไปงานปาร์ตี้สังสรรค์ โดยเฉพาะอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าเยอะ ๆ นาน ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าขี้อาย เพราะฉันก็ทำสื่อ ทำคอนเทนต์ที่นำเสนอตัวเองอยู่หลายช่องทาง


ฉันชอบท่องเที่ยว เดินทาง ชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ดูหนัง ดูละคร

ชอบอยู่กับคนจำนวนน้อย


ฉันเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์ในเรื่องงาน แต่เรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยอื่น ๆ ในบ้าน ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ซุ่มซ่ามก็ที่หนึ่ง

ชอบคิด สร้างสรรค์ แต่ไม่ถนัดคำนวณ วางแผน คิดกลยุทธ์


ในความสัมพันธ์ ชอบคนบุคลิกดี สะอาดสะอ้าน จิตใจดี ซื่อสัตย์ ไม่เจ้าชู้ ไม่มีอีโก้จัด ให้เกียรติผู้หญิง ไม่หยาบคาย (ไม่ต้องถึงกับสุภาพสุด ๆ ก็ได้) หาเลี้ยงตนเองได้


แล้วการรู้ตัวเองอย่างนี้ดียังไง?


เมื่อเรารู้ว่าอะไรเป็นตัวเอง เราก็จะรู้ว่าอะไร “ไม่เป็นตัวเอง” ไงคะ


ยกตัวอย่างเรื่องลักษณะนิสัยจะเห็นภาพง่ายดีค่ะ


ถ้าเราชอบเจอผู้เจอคน เป็น Extrovert แต่แฟนเป็น Introvert สุด ๆ ชอบอยู่บ้าน เอนจอยความเงียบ ชิลๆ สงบ ๆ หากเข้าใจกัน ปรับกันได้ ไม่ค่อยมีปัญหา

แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดล้ำเส้นเข้ามากะเกณฑ์ ปัญหาจะเริ่มเกิด


ศุกร์เย็น Extrovert อยากออกไปลั้ลลา แฮงก์เอาท์กับเพื่อนหลังจากเหนื่อยงานมาทั้งสัปดาห์ แต่ยอมไม่ไป เพราะแฟนไม่ชอบ มองว่าอยู่ไม่ติดบ้าน ควรใช้เวลาอยู่ด้วยกัน มี quality time ที่บ้านดีกว่าไหม ทำไมจะต้องไปเจอคนเยอะ ๆ อยู่กันเงียบ ๆ ชิล ๆ ไม่อยากนอนดูเนทฟลิกซ์ด้วยกันเหรอ


Introvert คนนี้มองว่า “สังสรรค์นอกบ้าน” = สิ้นเปลือง, เสียเวลา, (ไปเที่ยว) เหลวไหล

และถ้าคนนี้มีอิทธิพลสูงกว่าในความสัมพันธ์ ฝ่าย extrovert ก็ยอม... ทั้งที่เหี่ยวเฉา


ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของ Extrovert คือชอบเจอคน จะรู้สึกสดชื่นเหมือนได้รีชาร์จพลังถ้าได้ไปเจอผู้เจอคน เจ๊าะแจ๊ะ สนุกสนาน


ขณะที่ธรรมชาติของ Introvert คือชอบความสงบ และจะเหนื่อยมากถ้าต้องไปอยู่กับคนเยอะ ๆ การรีชาร์จพลังของเขาคือการพักผ่อน รีแลกซ์ ทำอะไรที่ชอบเงียบ ๆ ชิลๆ คนเดียว หรือกับคนที่คุ้นเคย สนิทสนม


กลับกัน ถ้าในความสัมพันธ์นี้คน Extrovert กุมอำนาจ ก็อาจบังคับให้คู่ที่เป็น Introvert ไปปาร์ตี้ด้วย ฝ่าย Introvert ก็นั่งเฉาอยู่กลางดงผู้คน ฝืนยิ้มอยู่ได้เกินชั่วโมงก็เก่งแล้ว


เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ฝ่ายที่ฝืนใจทำสิ่งที่ตรงข้ามกับธรรมชาติของตัวเองก็จะ drained out คือถูกสูบพลังชีวิตไปเรื่อย ๆ จนซังกะตาย หรือตายด้าน


ทั้งนี้ทั้งนั้น คู่ที่มีลักษณะ Extrovert - Introvert ที่อยู่กันได้ดีก็มีถมไปนะคะ เพราะเข้าใจธรรมชาติของกันและกัน และปล่อยให้แต่ละฝ่าย “เป็นตัวของตัวเอง” โดยอาจตกลงขอบเขตบางอย่างร่วมกัน ที่เรียกว่า “การปรับตัว”


เมื่อเรารู้ว่า เราเป็นแบบไหน และ เราไม่เป็นแบบไหน เราจะเข้าใจตัวเอง และคนอื่นมากขึ้น

เคารพตัวเอง และเคารพผู้อื่่นมากขึ้น


ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เพื่ออยากชวนให้ทุกคนคิดว่า “การเป็นตัวของตัวเอง” ของเรามีความหมายที่กว้างมาก ไม่ใช่แค่เรื่องบุคลิกอย่างที่ยกตัวอย่างอย่างเดียว รวมถึงอาหารที่ชอบ นิสัย ความเชื่อ ทัศนคติ พฤติกรรม


ถ้าเราเข้าใจตัวเองจริง ๆ เวลามีปัญหาเกิดขึ้น เราจะตั้งสติได้เร็วมาก จะไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่ใช่ สิ่งที่ทำให้เราสูญเสียความนับถือในตัวเอง สิ่งที่ทำให้เราหมดพลังใจในชีวิต


เราอาจจะลองนิยามความเป็นตัวเองออกมาหลาย ๆ มิติ แล้วจับกลุ่มแบ่งออกมา เหลือแค่ 3 คำ ลองดูว่า “ความเป็นตัวคุณ” จะออกมาเป็นคำไหนบ้าง


ด้วยรักจากใจ

ผู้หญิงเชิงรุก


 

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563

 



#ตัวจริงสวยกว่าในรูป

ชวนคิดค่ะ เวลาได้ยินอย่างนี้ เรารู้สึกยังไงคะ? ปฏิกิริยาและความคิดของเราเป็นแบบไหน ระหว่าง

  1. เออ ฉันสวยเว้ยยยยย ดีใจ proud แฮปปี้ ร่าเริง ความมั่นใจมาเต็ม
  2. ห๊ะ แปลว่ารูปฉันไม่สวยเหรอ ที่ลง ๆ ไปแปลว่าไม่ค่อยดี? เสียเซลฟ์
  3. ฉันถ่ายรูปไม่ดี ที่ฉันคิดว่าดีแล้ว คัดแล้ว แต่งแล้ว ออกมาไม่โอเคเรอะ
  4. จริงเหรอ ฉันดูดีจริง ๆ เหรอ (กังขาในตัวเองและในคำชม)


เพลินได้ยินคำทักประเภทนี้บ่อยมากกับคนที่เพิ่งรู้จักแบบเจอตัวจริงกัน ก่อนหน้านั้นอาจเคยเห็นกันแต่ในรูปตามโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม บางทีก็ไม่ใช่เรื่องสวยไม่สวย แต่เป็นเรื่องหุ่นก็มี เช่น “ตัวจริงตัวเล็กกว่าในรูปเยอะเลย”


สิ่งที่เพลินคิดแวบแรกคือ... “โอ ก้อด... ในรูปฉันต้องตัวใหญ่มากแน่ ๆ ให้ตายสิ นี่ฉันลงรูปอะไรไปบ้าง มันดูอ้วนเหรอ”


กับเรื่องหน้าตา ที่ว่าดีกว่าในรูปที่เคยเห็น เพลินก็มักคิดแบบข้อ2) และข้อ 3) คือสูญเสียความมั่นใจ


ถามว่า เพลินไม่ดีใจกับคำชมเหรอ ว่าจริง ๆ สวยนะ

คำตอบคือดีใจ เพราะตัวจริงคือของจริง ไม่ใช่รูป

แต่ก็ดีใจไม่สุด เพราะอยากให้รูปออกมาดีด้วย


คิดว่านี่คือสิ่งที่อยู่ข้างใต้ปฏิกิริยานี้


ถามว่าเพราะเพลินเป็นคนคิดลบเหรอ... ในแง่หนึ่งก็อาจใช่

เพลินเชื่อว่าทุกคนมีโมเมนต์แบบนั้น โมเมนต์ของความไม่มั่นใจ แม้คนข้างนอกจะให้ความมั่นใจกับตัวเราแค่ไหนก็ตาม


และความไม่มั่นใจนั้น มันทำให้เราเลือกจับจุดที่เราหวาดกลัวขึ้นมาก่อน


เพลินเป็นคนกังวลเรื่องรูปร่างมาแต่ไหนแต่ไร เพราะเราไม่ใช่คนตัวเล็ก ต่อให้ผอมก็จะตัวใหญ่กว่าคนทั่วไปเสมอ ข้อนี้เข้าใจตัวเองดี แต่ก็เคยเป็นปมขนาดใหญ่มาก่อน จึงเรียกว่าเป็นจุดอ่อนไหวอย่างหนึ่ง


จุดภูมิใจบ้าง อย่าเพิ่งหมั่นไส้ว่ามั่นหน้านะคะ

ตรงข้ามกับรูปร่างที่เรารู้สึกว่าไม่เพอร์เฟ็คต์ เพลินว่าหน้าตาเราพอได้นะ ฮ่าๆๆ เป็นจุดที่คนมักชมให้ได้ยินเป็นประจำ ก็จะทำให้เรามั่นใจ ภูมิใจ และกลายเป็นหวงแหนข้อดีนี้


ดังนั้นพอมีคนบอกว่าตัวจริงสวยกว่าในรูป มันก็ไปกระทบจุดนี้ตรงที่ รูปเป็นสิ่งที่เรานำเสนอตัวเองออกไป... ถ้าตัวจริงดีกว่าในรูป แปลว่าภาพที่เรานำเสนอตัวเรา มันยังไม่ดีพอ


จิตใจมนุษย์ซับซ้อนจริง ๆ


แต่เอาเข้าจริง ๆ เราไม่มีทางรู้หรอกว่า คนที่เห็นรูปเราในโซเชียลมีเดียบ่อย ๆ เค้ารู้สึกยังไง เค้าอาจจะว่า


“ก็สวยดี” หรือ “อืม ก็ดีนะ” 


บางทีอาจจะ


“รูปนี้ทำไมตาแปลก ๆ” หรือ “เออ มันไม่มีดั้งเท่าไหร่แฮะ” หรือไม่ก็ “ทำไมตัดหน้าม้าทรงนี้วะ ไม่สวยเลย”


มีหลายอย่าง อาจจะมีทั้ง “ทรงผมนี้ไม่เวิร์กเลย เสียดาย เค้าคิดยังไงของเค้า”


แต่ไม่ได้พูดออกมาก็ได้ ตามมารยาท


เอาเข้าจริงเราไม่มีทางรู้ มันอาจจะไม่ได้ดีเท่าไหร่ แต่อาจไม่ได้แย่

หรืออาจดีในความรับรู้นั้น


แต่มาเจอตัวจริง มันดีกว่าที่คิด


เราภูมิใจกับความเป็นเรา “จริง ๆ” หรือ Authentic me ไม่ดีกว่าหรือ


Authentic me ในบริบทของบทความนี้เพลินขอหมายถึงรูปร่างหน้าตาภายนอกนะคะ


เพราะเพลินว่า รูปร่างภายนอกก็สำคัญ ในแง่ที่มันส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจภายในของเรา


ทุกอย่างสอดคล้อง สัมพันธ์กันทั้งนั้น


พูดมานาน ที่ชวนคิด อยากรู้ว่าเวลาถูกชมแบบนี้ แต่ละคนคิดยังไงกันบ้าง


ไม่ผิดที่เราจะคิดลบแบบข้อ 2-4 เพราะแต่ละคนมีจุดอ่อนไหวต่างกัน


แต่สิ่งที่เพลินตกผลึกกับตัวเองและจะชวนมองมุมใหม่ก็คือ เราเอาสิ่งนั้นมา drive หรือผลักดันเราให้มีไฟ มีความสุขในการดูแลตัวเอง พัฒนาตัวเองต่อไปก็ดีนะคะ


เช่น ตัวจริงสวยกว่าในรูป

เขาชมเราว่าตัวตนนี้สวย เขาจะพูดจริงหรือตามมารยาท ก็รับมันเถอะ อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่เขาทักออกมาแรก ๆ

รับ... ด้วยการขอบคุณ และภูมิใจ

คราวหน้าก็ค่อยไปคิดว่าจะถ่ายรูปยังไงให้สวยดีกว่า หรือไม่ก็... ไม่ต้องแคร์เรื่องรูปลงในโซเชียลมากมายนัก ถ่ายแบบที่เราเป็นเรา หรือเราคิดว่าดีแล้ว (ผ่านการใคร่ครวญให้เหมาะสม) ถ้าเราคิดว่ารูปนี้เราดูดีแล้ว ดีที่สุดเท่าที่มันจะดีได้แล้ว ก็อย่าคิดอะไรมาก


และเก็บความภูมิใจในคำชม เป็นแรงขับในการดูแลตัวเองให้ดีต่อไป ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงทาครีม แต่งสวยอย่างเดียวนะคะ แต่องค์รวม ทั้งการกิน การนอน ออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการบำรุงผิว แต่งหน้า แต่งตัวให้เหมาะสมกับเราค่ะ


เหมาะสมของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

บ่อยครั้งที่เราหมกมุ่นกับ “ภาพ” ที่เราลงสื่อ เพื่ออยากให้คนเห็นเราเป็นอย่างไร

จนบางครั้งเราหลงลืมตัวตนและความต้องการแท้จริงของตัวเอง และไม่ได้ใส่ใจมันเท่าที่ควร


ใส่ใจในที่นี้คือ “ซ่อม” “แก้ปัญหา” “ทำความเข้าใจ” กับความขัดแย้งในตัว ในตัวเรา


รวมถึง “ดูแลทะนุถนอม” “เห็นอกเห็นใจ” ตัวเอง... ตัวจริง ๆ ของเรา


ถ้าตัวเราเต็มในใจแล้ว บางทีภาพออกสื่อ หรือภาพที่คนภายนอกเห็นเป็นยังไง บางที เราอาจไม่แคร์เลยด้วยซ้ำ

และที่สำคัญ​เราไม่มีทางรู้จริง ๆ หรอกว่าคนอื่นเค้าคิดยังไง มีแต่สิ่งที่เรากังวลไปเอง


ดังนั้น อย่าไปเสียเวลานอยด์กับสิ่งที่เราไม่มีทางรู้หรอก

อยู่กับตัวเอง เข้าใจตัวเองให้มาก ๆ


ขอให้มีความสุขกับตัวเองนะคะ


ผู้หญิงเชิงรุก


#สวยสมองดี #ผู้หญิงยุคใหม่ไม่ลำไย  #beautygoodvibes #beautygoodvibe #ฉลาดคิดฉลาดสวย #beautifulmind

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

Work from Home ให้ฟินด้วยกลิ่นหอม


เสริมบรรยากาศ Work from Home อย่างไรให้ เพลิดเพลิน

สถานการณ์ Covid-19 ที่ทุกคนต้อง Social Distance บ้างก็เรียกรวมถึงการ quarantine พวกเราจำนวนมากต้อง Work from Home หรือทำงานที่บ้าน (จนตอนนี้มีแฮชแท็ก #WFH ไปเรียบร้อยแล้ว) 

เพลินเชื่อว่ามีหลายบทความพูดถึงการใช้เครื่องมือ การจัดสภาพแวดล้อม หรือการปฏิบัติตัวเพื่อการทำงานที่บ้านอย่างมีประสิทธิภาพกันไปมากแล้ว โดยมากเป็นในเรื่องกิจวัตรประจำวันที่ต้องเปลี่ยนใหม่ ปรับวินัยให้สอดคล้อง ออกกำลังกาย ทำอาหารอะไรต่าง ๆ วันนี้เพลินเลยอยากแชร์อีกมุมมองและเทคนิกหนึ่งในการเพิ่มบรรยากาศการ WFH ให้รื่นรมย์ยิ่งขึ้น

“สร้างกลิ่นหอมในห้องตลอดเวลา”

ขอเล่าแบ็กกราวด์ก่อนว่าตอนนี้เพลินไม่ได้อยู่บ้านตัวเองจริง ๆ แต่อยู่ในห้องที่พื้นที่จำกัด ข้าวของจำเป็นก็ค่อนข้างเยอะ รอการขนย้ายแต่มาหยุดชะงักด้วยสถานการณ์Covid-19นี้

เรื่องจัดห้องให้เป็นระเบียบสบายตาจะได้ทำงานสบายใจนั้นทำอยู่แล้ว แต่ความของแน่นมันเลี่ยงยาก ดังนั้นสิ่งที่เพลินเพิ่มเสริมบรรยากาศคือ “การสร้างกลิ่นหอมในห้องตลอดเวลา”

Fragrance Diffuser เป็นทางเลือกนึงที่ว้าว... หลายคนก็อาจใช้วิธีนี้เป็นประจำอยู่แล้ว แต่มีข้อระวังคือเมื่อนานไปกลิ่นเริ่มไม่ออก ต้องคอยเปลี่ยนก้านไม้นำกลิ่น ซึ่งไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก ตัวน้ำมันหอมเองหากหมดก็มีรีฟิล

หรือจะใช้เตาน้ำมันหอมระเหยก็จะได้กลิ่นที่ฟุ้งลึก ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ผ่อนคลายเกินไปก็อาจทำให้ง่วงหลับไม่ได้งานก็ได้และต้องคอยระวังฟืนไฟ
ถ้าไม่อย่างนั้นใช้เครื่องพ่นกลิ่นหอมไอน้ำก็ปลอดภัยดี ใส่น้ำและหยดน้ำมันหอม กดปุ่มเครื่องก็จะส่งพ่นกลิ่นหอมอวลไปทั้งห้องได้ มีข้อสังเกตหนึ่งคือถ้าพื้นที่ห้องกว้าง กลิ่นก็อาจไม่ทั่วถึง และอยู่ไม่นานมาก

เทียนหอมนี่ละคำตอบ

ที่เพลินใช้แล้วเวิร์กกับตัวเองมาก ๆ คือการจุดเทียนหอม
เลือกเทียนหอมที่กลิ่นชัดตั้งแต่ยังไม่เปิดฝายิ่งดี เพราะต่อให้ดับเทียนแล้ว กลิ่นจะยังฟุ้งหอมอยู่อีกนาน ดังนั้น เลือกกลิ่นที่ชอบที่สุดนะคะ จะได้อยู่กับมันอย่างมีความสุข

เพลินชอบกลิ่นแนวขนม ๆ ทั้งหวานและเปรี้ยวหน่อย เลยจะมีกลิ่นแนวนี้ค่อนข้างเยอะ เวลาจุดแต่ละครั้งก็นานหน่อยประมาณ 30 -45 นาที พอดับแล้วกลิ่นจะยังอบอวลต่ออีกครึ่งวัน ช่วงบ่ายก็จุดอีกกลิ่นที่เสริมกัน กลิ่นก็หอมไปอีกนาน คราวนี้ถึงไม่จุดก็ได้กลิ่นหอมแตะจมูกตลอดเวลา
ถึงขั้นที่ใครมาหา (พี่สาวมาเคาะห้อง แม่บ้านทำความสะอาด ไม่ได้มีแขกคนนอกมานะคะ) ก็บอกว่า 

      “เข้ามาห้องเพลินแล้วสดชื่นจัง”
หรือ 
     “เข้ามาห้องเพลินแล้วหิว... กลิ่นเหมือนขนมเค้กหอม ๆ”

ทีนี้หลับหรือตื่นก็ได้กลิ่นหอม ทำให้การนั่งทำงานสนุกมากขึ้น อยากนั่งโต๊ะทำงานไปอีกพักใหญ่เพราะในห้องหอมมาก ต่างจากตอนไม่มีกลิ่นลิบลับเลย

หมายความว่าถ้าคุณไม่ได้ทำงานในห้องนอน ก็ให้สร้างกลิ่นหอมไว้ในห้องที่คุณทำงานนะ จะทำให้อยากเข้าไปในห้องนั้น อยากทำงาน และเริ่มต้นวันอย่างสดชื่น
ข้อแนะนำคือ
  1. เลือกเทียนหอมกลิ่นที่ชอบจริง ๆ
  2. เทียนหอมควรมีกลิ่นหอมชัด ๆ ตั้งแต่ยังไม่เปิดฝา ถ้าเลือกกลิ่นอ่อนจะไม่หอมฟุ้งนาน แต่จะหายเร็ว
  3. เลือกเทียนหอมจากไขถั่วเหลือง ควันที่ได้ไม่เป็นอันตราย และเนื้อเทียนสัมผัสผิวได้ปลอดภัย
  4. ระวังไฟด้วยนะ อย่าจุดทิ้งไว้นานมาก

ทีนี้ก็น่าจะเสริมบรรยากาศให้การนั่งทำงานที่บ้านสนุกขึ้น รื่นรมย์ขึ้น
ถึงจะเล็กน้อย แต่แค่กระปรี้กะเปร่าขึ้นตอนทำงานก็มีความหมายใช่ไหมคะ

เพลินลองแล้วได้ผลกับตัวเองมาก ๆ อยากให้ลองดูกันนะคะ
สุดท้าย มันอาจไม่เวิร์กเลยกับคนที่ไม่ชอบกลิ่นหอมค่ะ

ด้วยรักจากใจ

#ผู้หญิงเชิงรุก

#สวยสมองดี #ฉลาดคิดฉลาดสวย #ผู้หญิงยุคใหม่ไม่ลำไย #wfh #socialdistance



วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ความฝันที่แท้จริง (May your TRUE DREAM come true.)


#ความฝันที่แท้จริง
ในฐานะที่เราโต ๆ กันแล้ว มีใครเคยลองย้อนกลับไปคิดบ้างว่าจริง ๆ แล้วความฝันของเราคืออะไร
อาจเป็นความฝันที่ฝันตั้งแต่เด็กแล้วยังซ่อนตัวอยู่ที่ไหนสักแห่งในหัวใจ ความฝันที่อาจก่อรูปร่างระหว่างทางเดินชีวิต แต่ก็ต้องเก็บมันไว้เพราะดูไกลเกินเอื้อม
หรืออาจเป็นความฝันที่กำลังสานอยู่ แต่ถูกเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตทำให้หันเหไปหรือล้มเลิกไป
แล้วเคยตั้งคำถามกันไหมคะ ว่าฝันที่เราไล่ตามอยู่ เป้าหมายที่เราไขว่คว้า คือความฝันที่แท้จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงความฝันสำเร็จรูปที่สังคมยัดเยียดให้

เราเคยพูดเรื่อง #ความฝันสำเร็จรูป ไปในโพสต์เก่า ๆ วันนี้อยากพูดถึงอีกครั้งในอีกแง่มุม แง่ที่อยากให้ตั้งคำถามว่า

“เรากำลังทำอะไรอยู่” สิ่งที่เราทำอยู่เป็นทางสู่ความฝันของเราหรือไม่? บางคนอาจจะเริ่มฉุกใจ... แล้วความฝันของฉันคืออะไร ยังไม่รู้เลย

#จะรู้ไปทำไม

ถ้าคุณทำงานเหนื่อยสายตัวแทบขาด บางงานเหนื่อยกาย บางงานเหนื่อยใจ บางงานเหนื่อยทั้งกายทั้งใจ คุณจะรู้จักคำว่า “พลังชีวิต” ได้ดี งานที่สูบพลังชีวิตเราได้มากที่สุดไม่ใช่งานที่ใช้แรงกายหนักหนาสาหัส แต่กลับเป็นงานที่สวนทางกับความฝัน ความเชื่อ ศรัทธา หรืออุดมการณ์
หรืออาจเป็นงานที่ทำให้ผ่านไปวัน ๆ ไม่มี passion ใด ๆ หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ แล้ววันหนึ่งคุณอาจรู้สึกตัวว่าถูกดูดพลังไปจนเหี่ยวแห้งไร้เรี่ยวแรง และโรยราไปอย่างเงียบ ๆ

เพลินเลยอยากชวนให้พวกเราลองใช้เวลากับตัวเองจริง ๆ แบบปราศจากสิ่งรบกวน ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง สังคม โซเชียลเนตเวิร์ก แล้วนั่งคุยกับตัวเองว่า ชีวิตเราเนี่ย มีความฝันอะไรบ้าง

ตอบตัวเองอย่างไม่ต้องอาย ไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงว่าด้วยสถานะนี้ เงินแค่นี้ จะเป็นจริงตามนั้นได้อย่างไร เราอยู่กับตัวเอง ไม่มีใครตัดสิน ซื่อสัตย์กับตัวเอง เพลินเชื่อว่าส่วนใหญ่คิดออกทั้งนั้น

เพลินอาจไม่มีสูตรลัดว่าเราจะไปถึงความฝันนั้นได้ยังไง แต่เชื่อว่าจากการ “คุยกับตัวเองอย่างซื่อสัตย์” นี้ จะทำให้เรามีไกด์ไลน์ให้ฉุกคิดว่าทุกวันนี้

เรากำลังทำสิ่งที่มุ่งไปสู่ความฝันที่แท้จริงของเราหรือเปล่า
เรากำลังทำสิ่งที่ตรงข้ามหรือห่างไกลออกไปหรือไม่
ได้เวลามองหาหนทางสเตปแรกที่จะเดินไปสู่ความฝันหรือยัง
ถึงจะดูยาวไกล ขอเพียงหันมาถูกทิศถูกทาง ก็ยังมีโอกาสกว่าเดินผิดทาง

แต่สิ่งสำคัญคือ เรารู้จักความฝันที่แท้จริงของเราหรือยัง
ไม่อย่างนั้น เดินทางแสนไกลไปถึงแล้วอาจจะพบว่า... “ขอโทษค่ะ คุณมาผิดทาง”

เพราะเราคือเพื่อนแท้ที่สำคัญของตัวเราเอง รู้จักตัวเองลึกเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น

ด้วยรักจากใจ
ผู้หญิงเชิงรุก

#ผู้หญิงเชิงรุก #beautygoodvibes #beautifulmind #ผู้หญิงยุคใหม่ไม่ลำไย #สวยสมองดี


วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562

คนดีของใคร?




#คนดีของใคร?



            เราเป็นคนดีกันไหมคะ? 

          มีใครเคยนั่งตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นคนดีหรือเปล่า 
         คำถามก็อาจจะตอบยากสักหน่อยเพราะต้องมานั่งนึกดูว่า อะไรที่แปลว่าคนดี แล้วถ้านิยามออกมาได้แล้ว แต่เรามีไม่ครบตรงตามข้อนั้น เรายังจะเป็นคนดีหรือเปล่า

            เพลินว่ามีหลายคนที่เริ่มคิด ว่าเราดี ไม่ดียังไง... เราทำความเดือดร้อนให้ใครไหม เราทำร้ายผู้อื่นบ้างหรือเปล่า เราทำอะไรให้ใครขุ่นใจบ้าง หรือเราตอบโต้ยังไงเมื่อมีคนทำร้ายเรา

            ลึกลงไปถึงเรื่องความคิด ก็อาจมีสะดุ้งกันมาบ้าง เพราะบางครั้งทำดี แต่คิดไม่ดีก็มีบ่อยไป


            เราอาจเป็นเจ้านายที่ดีในที่ทำงาน แต่อาจเป็นซาตานเมื่ออยู่กับครอบครัว
            เราอาจเป็นแม่เป็นพ่อที่น่ารัก แต่เป็นพนักงานที่ไม่ได้เรื่อง ขี้เกียจ
            เราอาจนินทาคนอื่น แต่เราไม่ได้เกลียดเขา เราสนุก เราบันเทิง
            เราอาจไม่ได้ซุบซิบว่าร้ายใคร แต่ในใจแอบสมน้ำหน้า
            เราอาจไม่ชอบหน้าคนนั้นคนนี้ แต่ต้องยิ้มแย้มทำดีมีมารยาท ในใจนึกพยาบาทเสมอ

 เรายังเป็นคนดีอยู่ไหม?

            ถ้าเดินไปถามคนรู้จักสักคนว่า “เราเป็นคนดีไหม?” 
ไม่ได้ถามว่า  “เราเป็นคนยังไง?” คิดว่าจะได้คำตอบแบบไหนกันบ้างคะ
           
            คำตอบต่อคำถามนี้ใช้อารมณ์ความรู้สึก ไม่ได้ใช้เหตุผล

            เพลินว่า คำตอบอาจอยู่ที่ว่าสิ่งที่คนคนนั้นได้รับจากเราคืออะไร ภาพจำของเขาที่มีต่อเราเป็นแบบไหน

            ถ้าคุณเคยเกรี้ยวกราดใส่พนักงานเมื่อเขาทำผิดพลาด เขาอาจจำว่าคุณเป็นนางยักษ์ใจมาร ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง แต่เขาจะไม่สนหรอกว่าคุณเป็นนางฟ้าของลูก ๆ คุณดูแลลูก สามี พ่อแม่ของคุณดีขนาดไหน คุณช่วยเหลือสัตว์พิการตั้งกี่ครั้ง เพราะสำหรับเขา เขาไม่ได้พบสิ่งนี้

            เราอาจเคยชื่นชอบใครสักคนที่เขาดีกับเรา หรือแม้แต่ดูน่ารัก แต่คน ๆ นั้นอาจเป็นที่น่ารังเกียจของคนอีกกลุ่มที่ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีกับคน ๆ นั้นมาก่อน

            ไม่อย่างนั้นเราจะเห็นข่าวคนเป็นลูกเป็นผู้ร้ายใจโหด ทำร้ายทารุณคนจนตาย แต่พ่อแม่ยืนกรานเสียงแข็งว่าลูกฉันเป็นคนดีอยู่บ่อย ๆ ไหม

           หรือแม้แต่ถ้าคุณบอกเพื่อน (ที่ไม่เข้าข้างคุณจนเกินไป) ว่ายัยคนนั้นไม่ดี ร้ายกาจกับคุณยังไง แต่ถ้าสำหรับเพื่อนเขาไม่เห็นแบบนั้น หรือเคยมีความทรงจำดี ๆ จากคนนั้น คนนั้นก็เป็นคนดีของเพื่อน แต่ไม่ใช่ของคุณ

            ดังนั้น ถามว่าคน ๆ นั้นเป็นคนดีไหม... ก็อยู่ที่ว่าเราถามใคร แล้วเขามีภาพจำของคนนั้นอย่างไร
           
แต่ขอให้ตระหนักไว้ว่า เราไม่สามารถทำให้ทุกคนชื่นชอบได้
บางคนรู้จักคนมาก คนชื่นชอบมาก คนไม่ชอบไม่ค่อยมี
บางคนรู้จักคนมาก ไม่ค่อยมีคนชอบ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ชื่นชม

ให้เรามีสติ ทำดีอย่างไรก็เป็นผลต่อตัวเรา อยากให้คนจำเราแบบไหนก็ให้ทำแบบนั้น แต่อย่าคาดหวังโดยทำเพื่อให้คนเห็นว่าเป็นคนดี

อย่างที่ย้ำ เราไม่มีทางทำให้ทุกคนชอบได้ เราอาจต้องทำใจเมื่อมีใครไม่ชอบเรา เราอาจปรับปรุงแก้ไขนิสัยเสียของเราได้ก็เป็นผลดีกับเรา แต่ต้องเข้าใจ ยังไงก็จะมีคนไม่ชอบอยู่ดี ให้วางใจในความดีที่เราทำ

เป็นเรื่องดีที่อยากเป็นคนดีของทุกคน เพราะเท่ากับได้ทำดีในทุกด้าน
แต่ให้รู้ไว้ว่าเราเป็นคนดีของตัวเรา และคนที่เรารัก... สำคัญที่สุด

ขอสรุปสั้นๆ ด้วยคำที่เพลินไปอ่านเจอมาแล้วคิดว่าตรงประเด็น เข้าใจง่าย
Be a good person but don’t waste time to prove it”
จงเป็นคนดี แต่อย่าไปเสียเวลากับการพิสูจน์ความดี

ด้วยรักจากใจ
#ผู้หญิงเชิงรุก

#สวยสมองดี #ผู้หญิงยุคใหม่ไม่ลำไย #ฉลาดคิด #ฉลาดสวย #beautygoodvibes #goodvibesonly #beautifulmind #mindcoach